พุทธโอวาท โทษของกาม
” ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่าน สืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว”
ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลก มีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตน และคนอื่น ให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งนิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือ วันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปดประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย บทสี่คืออริยสัจประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดีประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์แปดนี่แล เป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์แปดนี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้นเมื่อปฏิบัติตนดังนี้ พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหา อุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตนเป็นของตนที่จะไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆเพียงสักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่บานอยู่”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ ความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยการปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่ไม่มีผลคุ้มเหนื่อย
เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็กๆเพียงตัวเดียว มนุษย์ส่วนใหญ่มักวุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือ ดวงจิตที่ผ่องแผ้ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา และเรืองเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ เมื่อมีเกียรติมากขึ้น ภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเจาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยประสบความสงบร่มเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆกันนั้น เขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! คนในโลกส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความกลับกลอกและหลอกลวงหาความจริงไม่ค่อยได้ แม้แต่ในการนับถือศาสนา ด้วยอาการดังกล่าวนี้ โลกจึงเป็นเสมือนระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื่อรังตลอดเวลา ภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบาย แต่สถานที่เหล่านั้น มักบรรจุไปด้วยคนซึ่งมีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมากภาวะอย่างนั้นจะมี ความสุขสู้ผู้มีใจสงบอยู่โคนไม้ได้อย่างไร”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การแสวงหาทางออกอย่างพวกเธอนี้เป็นเรื่องประเสริฐแท้ การแก่งแย่งกันเป็นใหญ่เป็นโตนั้น ในที่สุดทุกคนก็รู้เองว่าเหมือนแก่งแย่งกันเข้าไปสู่กองไฟมีแต่ความรุ่มร้อน กระวนกระวาย เสนาบดีดื่มน้ำด้วยภาชนะทองคำกับคนจนๆ ที่ดื่มน้ำด้วยภาขนะที่ทำด้วยกะลามะพร้าว เมื่อมีความพอใจย่อมมีความสุขเท่ากัน นี่เป็นข้อยืนยันว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มีแต่ความพอใจ แม้กระท่อมจะมุงด้วยใบไม้ ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่า แน่นอนทีเดียว คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่ใช่คนใหญ่คนโต แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบ เยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ลาภยศนั้นเป็นเหยื่อของโลก ที่น้อยคนนักจะสละและวางได้ จึงแย่งลาภแยกยศกันอยู่เสมอ เหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกิน แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย หรือ เหมือนไก่ที่แย่งไส้เดือนกันจิกตีกัน ทำลายกันจนพินาศกันไปทั้งสองฝ่าย น่าสลดสังเวชจิตยิ่งนัก ถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง ทีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี ถ้าเขาลดโทสะลง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีเมตตากรุณาต่อกัน และลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาและดำรงชีวิต โลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิด หน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเธอคือลดความโลภ ความโกรธ และความหลงของเธอเองให้น้อยลง แล้วจะประสบความสุขความเยือกเย็นขึ้นมาก เหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใด ความสบายกายก็มีมากขึ้นเท่านั้น”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวอยู่ภายใต้การจองจำของสังคม ซึ่งมีแต่ความหลอกหลอน สับปรับและแปรผัน ทำไมมนุษย์จึงยอมตัวเป็นทาสของสังคมจนแทบจะกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้ จะทำอะไรจะคิดอะไรก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของสังคมไปเสียหมด สังคมจึงกลายเป็นเครื่องจองจำชีวิต ที่มนุษย์ซึ่งสำคัญตัวว่าเจริญแล้วช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อผูกมัดตัวเองให้อึดอัดรำคาญ
มนุษย์ยิ่งเจริญขึ้นก็ดูเหมือนจะมีเสรีภาพน้อยลงทั้งทางกายและทางใจ ดูๆแล้วความสะดวกสบายและเสรีภาพของมนุษย์จะสู้สัตว์เดรัจฉานบางประเภทไม่ได้ ที่มันมีเสรีภาพที่จะทำอะไรตามใจชอบอยู่เสมอ ดูอย่างเช่นฝูงวิหดนกกา มนุษย์เราเจริญกว่าสัตว์ตามที่มนุษย์เราชอบพูดกัน แต่ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขน้อยกว่าสัตว์ ภาระใหญ่ที่ต้องแบกไว้คือเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ มันเป็นภาระหนักยิ่งของมนุษยชาติ สัตว์เดรัจฉานตัดไปได้อย่างหนึ่งคือเรื่องเกียรติ
คงเหลือแต่เรื่องกามและเรื่องกิน นักพรตอย่างพวกเธอนี้ตัดไปได้อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกาม คงเหลือแต่เรื่องกินอย่างเดียว ปลดภาระไปได้อีกมาก แต่การกินอย่างนักพรตกับการกินของผู้บริโถคกามก็ดูเหมือนจะบริโถคแตกต่างกัน อยู่ ผู้บริโภคกามและยังหนาแน่นอยู่ในโลกีย์วิสัย บริโภคเพื่อยุกามให้กำเริบ จะต้องกินอย่างมีเกียรติ กินให้สมเกียรติ มิใช่กินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสมณะ ความจริงร่างกายคนเรามิได้ต้องการอาหารอะไรมากนัก
เมื่อหิวร่างกายก็ต้องการอาหารเพียงเพื่อบำบัดความหิวเท่านั้น แต่เมื่อมีเกียรติเข้ามาบวกด้วย จึงกลายเป็นเรื่องกินอย่างเกียรติยศ และแล้วก็มีภาระตามมาอย่างหนักหน่วง คนจำนวนมากเบื่อเรื่องนี้ แต่จำต้องทำเหมือนโคหรือควาย ซึ่งเหนื่อยหน่ายต่อแอกและไถ แต่จำใจต้องลากมันไป ลากมันไป อนิจจา !”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! การครองเรือนเป็นเรื่องยาก เรือนที่ครองไม่ดี ย่อมก่อทุกข์ให้มากมาย การอยู่ร่วมกับคนพาลเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง”