วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แนวทางการปฎิบัติธรรม ท่าน ก.เขาสวนหลวง



แนวทางปฏิบัติธรรม 

โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง 

ผู้ปฏิบัติควรจะศึกษาให้เข้าใจเป็นลำดับไปดังนี้ 


การศึกษาที่เรียนรู้ได้ง่าย ทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกาละ ทุกขณะ ได้ผลทันที ไม่ต้องรอรับผลข้างหน้า ก็คือ ศึกษาในโรงเรียน กล่าวคือ ในร่างกายยาววาหนาคืบมีสัญญาใจครอง ในร่างกายนี้มีสิ่งที่น่าเรียนรู้ ตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด 


ขั้นของการศึกษา 


ก. เบื้องต้น ให้รู้ว่ากายนี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ ส่วนใหญ่ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนย่อยได้แก่ ส่วนที่จับติดอยู่กับส่วนใหญ่ เป็นต้นว่า สี กลิ่น ลักษณะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีลักษณะไม่คงทน (ไม่เที่ยง) เป็นทุกข์ เต็มไปด้วยของปฏิกูล พิจารณาให้ลึกก็จะเห็นไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร มีแต่สภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีสภาวะที่ควรเรียกว่า “ตัวเราของของเรา” เมื่อตามเห็นกายอยู่อย่างนี้ชัดเจน ก็จะคลายความกอดรัดยึดถือในกายว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่นเป็นนี่เสียได้ 


ข. ขั้นที่สอง ในส่วนนามธรรม (คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) กำหนดให้รู้ตามความเป็นจริง ล้วนเป็นเองในลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือเกิดๆ ดับๆ เป็นธรรมดา พิจารณาเห็นจริงแล้วจะคลายความยึดถือในนามธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่น เป็นนี่ เสียได้ 


ค. การศึกษาขั้นปฏิบัติ มิได้หมายเพียงการเรียน การฟังการอ่านเท่านั้น ต้องมีการปฏิบัติให้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยจิตใจตนเอง ด้วยการ 


(๑) ปัดเรื่องภายนอกทั้งหมดทิ้งเสียก่อน มองย้อนเข้าดูจิตใจตนเอง (จนรู้ว่ามีความแจ่มใส หรือมัวหมองวุ่นวายอย่างไร) ด้วยการมีสติสัมปชัญญะกำกับ รู้กายรู้จิตใจอบรมจนจิตทรงตัวเป็นปกติ 


(๒) เมื่อจิตทรงตัวเป็นปกติได้ จะเห็นสังขารหรืออารมณ์ทั้งหลาย เกิดดับเป็นธรรมดา จิตจะว่างวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายและเห็นรูปนามเกิดดับเองตามธรรมชาติ 


(๓) ความรู้ว่าไม่มีตัวตน แจ่มชัดเมื่อใด จึงจะพบเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ภายใน เป็นสิ่งที่พ้นทุกข์ ไม่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ ไม่มีความเกิด ความตาย สิ่งที่มีความเกิดย่อมมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา 


(๔) เมื่อเห็นความจริงชัดใจแล้ว จิตจะว่าง ไม่เกี่ยวเกาะอะไร แม้ตัวจิตเองก็ไม่สำคัญว่าเป็นจิต หรือเป็นอะไร คือ ไม่ยึดถือตัวเองว่าเป็นอะไรทั้งหมด จึงมีแต่สภาพธรรมล้วนๆ เท่านั้น 


(๕) เมื่อบุคคลมองเห็นสภาพธรรมล้วนๆ อย่างแจ่มแจ้ง ย่อมเบื่อหน่าย ในการทนทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ เมื่อรู้ความจริงฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมตลอดแล้วจะเห็นผลประจักษ์เฉพาะหน้าว่า สิ่งที่หลุดพ้นจากทุกข์นั้นมีอยู่อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องเชื่อตามใคร ไม่ต้องถามใครอีก เพราะพระธรรมเป็นปัจจัตตังคือรู้เฉพาะตนจริงๆ ผู้ที่มองเห็นความจริงด้านในแล้ว จะยืนยันความจริงอันนี้ได้เสมอ 


ก. เขาสวนหลวง 

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มุตโตทัย แนวทางปฎิบัติเพื่อความหลุดพ้น



มุตโตทัย ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

แนวทางการปฏิบัติให้ถึงความหลุดพ้น มุตโตทัย 
บันทึกโดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร ( ปัจจุบันพระเทพเจติยาจารย์  วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ ) ณ วัดป่าบ้านนามน กิ่ง อ. โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร พ.ศ. ๒๔๘๖ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อธรรมดังต่อไปนี้

๑. การปฏิบัติ เป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอม (สัทธรรมปฏิรูป) แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร้ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริง และเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติถ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจกำจัดเหล่า กะปอมก่า คือ อุปกิเลส แล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย

๒. การฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า

ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา
สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทรมานฝึกหัดพระองค์จนได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็น พุทฺโธ ผู้รู้ก่อนแล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สตฺถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษผู้มีอุปนิสัยบารมีควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงพระคุณปรากฏว่า กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต 

ชื่อเสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกฝนทรมานตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกแจกธรรม สั่งสอนประชุมชนในภายหลัง

 ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเดียวกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลใดไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป็นผู้มีโทษ ปรากฏว่า ปาปโกสทฺโท คอเป็นผู้มีชื่อเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในก่อนทั้งหลาย

๓. มูลมรดกอันเป็นต้นทุนทำการฝึกฝนตน

เหตุใดหนอ ปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดี จึงต้องตั้ง นโม ก่อน จะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็นสิ่งสำคัญ จึงยกขึ้นพิจารณา ได้ความว่า น คือธาตุน้ำ โม คือ ธาตุดิน พร้อมกับบาทพระคาถา ปรากฏขึ้นมาว่า มาตาเปติกสมุภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกัน จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้

 น เป็นธาตุของ มารดา โม เป็นธาตุของ บิดา ฉะนั้นเมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า กลละ คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ถือปฏิสนธิในธาตุ นโม นั้น เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว กลละ ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น อัมพุชะ คือเป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น ฆนะ คือเป็นแท่ง และ เปสี คือชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็นปัญจสาขา

 คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑ ส่วนธาตุ พ คือลม ธ คือไฟ นั้นเป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลังเพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละก็ต้องทิ้งเปล่าหรือสูญเปล่า ลมและไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาปสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย น มารดา โม บิดา เป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมาด้วยการให้ข้าวสุกและขนมกุมมาส เป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า บุพพาจารย์ เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ทำ

ให้กล่าวคือรูปกายนี้แล เป็นมรดกดั้งเดิมทรัพย์สินเงินทองอันเป็นของภายนอกก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลยเพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น "มูลมรดก" ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย

 ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่ เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อนแล้วจึงทำกิริยาน้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปลต้นกิริยาไม่ มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุน ทำการฝึกหัดปฏิบัติตนไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

๔. มูลฐานสำหรับทำการปฏิบัติ

นโม นี้ เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้น ยังไม่สมประกอบหรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะจากตัว น มาใส่ตัว ม เอาสระ โอ จากตัว ม มาใส่ตัว น แล้วกลับตัว มะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่าใจ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ทั้งกายทั้งใจเต็มตามส่วน สมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้ มโน คือใจนี้เป็นดั้งเดิม เป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมด ได้ในพระพุทธพจน์ว่า

 มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติออกไปจาก ใจ คือมหาฐาน นี้ทั้งสิ้น เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก มโน แจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น สมมติทั้งหลายในโลกนี้ต้องออกไปจากมโนทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมมติบัญญัติตามกระแสแห่งน้ำโอฆะจนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลง หลงถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราไปหมด

๕. มูลเหตุแห่งสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุ

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เว้นมหาปัฏฐาน มีนัยประมาณเท่านั้นเท่านี้ ส่วนคัมภีร์มหาปัฏฐาน มีนัยหาประมาณมิได้เป็น "อนันตนัย" เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรอบรู้ได้ เมื่อพิจารณาพระบาลีที่ว่า เหตุปจฺจโย นั้นได้ความว่า เหตุซึ่งเป็นปัจจัยดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายในสากลโลกธาตุนั้นได้แก่ มโน นั่นเอง มโน เป็นตัวมหาเหตุเป็นตัวเดิม เป็นสิ่งสำคัญ นอนนั้นเป็นแต่อาการเท่านั้น อารมฺมณ จนถึงอวิคฺคต จะเป็นปัจจัยได้ก็เพราะมหาเหตุคือใจเป็นเดิมโดยแท้ ฉะนั้น มโนซึ่งกล่าวไว้ในข้อ ๔ ก็ดี ฐีติ ภูตํ ซึ่งจะกล่าวในข้อ ๖ ก็ดี 

และมหาธาตุซึ่งกล่าวในข้อนี้ก็ดี ย่อมมีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ดี รู้อะไรๆ ได้ด้วย ทศพลญาณ ก็ดี รอบรู้ สรรพเญยฺยธรรม ทั้งปวงก็ดี ก็เพราะมีมหาเหตุนั้นเป็นดั้งเดิมทีเดียว จึงทรงรอบรู้ได้เป็นอนันตนัย แม้สาวทั้งหลายก็มีมหาเหตุนี้แลเป็นเดิม 

จึงสามารถรู้ตามคำสอนของพระองค์ได้ด้วยเหตุนี้แลพระอัสสชิเถระผู้เป็นที่ ๕ ของพระปัญจวัคคีย์จึงแสดงธรรมแก่ อุปติสฺส (พระสารีบุตร) ว่า เย ธมฺมา เหตุปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ ความว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ...เพราะว่ามหาเหตุนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัวเดิม เมื่อท่านพระอัสสชิเถระกล่าวถึงที่นี้ (คือมหาเหตุ)

 ท่านพระสารีบุตรจะไม่หยั่งจิตลงถึงกระแสธรรมอย่างไรเล่า? เพราะอะไร ทุกสิ่งในโลกก็ต้องเป็นไปแต่มหาเหตุถึงโลกุตตรธรรม ก็คือมหาเหตุ
ฉะนั้น มหาปัฏฐาน ท่านจึงว่าเป็น อนันตนัย ผู้มาปฏิบัติใจคือตัวมหาเหตุจนแจ่มกระจ่างสว่างโร่แล้วย่อมสามารถรู้อะไรๆ ทั้งภายในและภายนอกทุกสิ่งทุกประการ สุดจะนับจะประมาณได้ด้วยประการฉะนี้

๖. มูลการของสังสารวัฏฏ์

ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโว ชาติ
คนเราทุกรูปนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแต่มีที่เกิดทั้งสิ้น กล่าวคือมีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการแต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชชา เกิดมาจากอะไรฯ ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดาอวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน 

ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยความหลง จึงมีเครื่องต่อ กล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้วจึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งเป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภพชาติคือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียก ปัจจยาการ เพราะเป็นอาการสืบต่อกัน วิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจากฐีติภูตํเช่นเดียวกัน

 เพราะเมื่อฐีติภูตํกอปรด้วยวิชชาจึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง นี่พิจารณาด้วยวุฏฐานคามินี วิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า "มูลตันไตร" (หมายถึงไตรลักษณ์)

 เพราะฉะนั้นเมื่อจะตัดสังสารวัฏฏ์ให้ขาดสูญ จึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริง ก็จะหายหลงแล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆ อีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ด้วยประการฉะนี้

๗. อรรคฐาน เป็นที่ตั้งแห่งมรรคนิพพาน

อคฺคํ ฐานํ มนุสฺเสสุ มคฺคํ สตฺตวิสุทธิยา
ฐานะอันเลิศมีอยู่ในมนุษย์ ฐานะอันดีเลิศนั้นเป็นทางดำเนินไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ โดยอธิบายว่าเราได้รับมรดกมาแล้วจาก นโม คือ บิดามารดา กล่าวคือตัวของเรานี้แล อันได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นชาติสูงสุด เป็นผู้เลิศตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีคือมีกายสมบัติ วจีสมบัติ แลมโนสมบัติบริบูรณ์ จะสร้างสมเอาสมบัติภายนอก คือ ทรัพย์สินเงินทองอย่างไรก็ได้ จะสร้างสมเอาสมบัติภายในคือมรรคผลนิพพานธรรมวิเศษก็ได้ 

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย ก็ทรงบัญญัติแก่มนุษย์เรานี้เอง มิได้ทรงบัญญัติแก่ ช้าง มา โค กระบือ ฯลฯ ที่ไหนเลย มนุษย์นี้เองจะเป็นผู้ปฏิบัติถึงซึ่งความบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนมีบุญวาสนาน้อย เพราะมนุษย์ทำได้ เมื่อไม่มี ทำให้มีได้ เมื่อมีแล้วทำให้ยิ่งได้สมด้วยเทศนานัยอันมาในเวสสันดรชาดาว่า ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวตฺวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ เมื่อได้ทำกองการกุศล คือ ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาตามคำสอนของพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแล้ว 

บางพวกทำน้อยก็ต้องไปสู่สวรรค์ บางพวกทำมากและขยันจริงพร้อมทั้งวาสนาบารมีแต่หนหลังประกอบกัน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานโดยไม่ต้องสงสัยเลย พวกสัตว์ดิรัจฉานท่านมิได้กล่าวว่าเลิศ เพราะจะมาทำเหมือนพวกมนุษย์ไม่ได้ จึงสมกับคำว่ามนุษย์นี้ตั้งอยู่ในฐานะอันเลิศด้วยดีสามารถนำตนเข้าสู่มรรคผล เข้าสู่พระนิพพานอันบริสุทธิ์ได้แล

๘. สติปัฏฐาน เป็น ชัยภูมิ คือสนามฝึกฝนตน

พระบรมศาสดาจารย์เจ้า ทรงตั้งชัยภูมิไว้ในธรรมข้อไหน? เมื่อพิจารณาปัญหานี้ได้ความขึ้นว่า พระองค์ทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ อุปมาในทางโลก การรบทัพชิงชัย มุ่งหมายชัยชนะจำต้องหา ชัยภูมิ ถ้าได้ชัยภูมิที่ดีแล้วย่อมสามารถป้องกันอาวุธของข้าศึกได้ดี ณ ที่นั้นสามารถรวบรวมกำลังใหญ่เข้าฆ่าฟันข้าศึกให้ปราชัยพ่ายแพ้ไปได้ ที่เช่นนั้นท่านจึงเรียกว่า ชัยภูมิ คือที่ที่ประกอบไปด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคงฉันใด

อุปไมยในทางธรรมก็ฉันนั้น ที่เอามหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิก็โดยผู้ที่จะเข้าสู่สงครามรบข้าศึก คือ กิเลส ต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน เพราะคนเราที่จะเกิด กามราคะ เป็นต้น ขึ้น ก็เกิดที่กายและใจ เพราะตาแลไปเห็นกายทำให้ใจกำเริบ เหตุนั้นจึงได้ความว่า กายเป็นเครื่องก่อเหตุ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ทำให้ใจสงบได้ 

ณ ที่นี้พึง ทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณาไม่ต้องถอยเลยทีเดียว ในเมื่ออุคคหนิมิตปรากฏ จะปรากฏกายส่วนไหนก็ตาม ให้พึงถือเอากายส่วนที่ได้เห็นนั้นพิจารณาให้เป็นหลักไว้ไม่ต้องย้ายไปพิจารณาที่อื่น จะคิดว่าที่นี่เราเห็นแล้ว ที่อื่นยังไม่เห็น ก็ต้องไปพิจารณาที่อื่นซิ เช่นนี้หาควรไม่ ถึงแม้จะพิจารณาจนแยกกายออกมาเป็นส่วนๆ ทุกๆอาการอันเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้อย่างละเอียด ที่เรียกว่าปฏิภาคก็ตาม 

ก็ให้พิจารณากายที่เราเห็นทีแรกด้วยอุคคหนิมิตนั้นจนชำนาญ ที่จะชำนาญได้ก็ต้องพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ณ ที่เดียวนั้นเอง เหมือนสวดมนต์ฉะนั้น อันการสวดมนต์ เมื่อเราท่องสูตรนี้ได้แล้ว ทิ้งเสียไม่เล่าไม่สวดไว้อีก ก็จะลืมเสียไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะไม่ทำให้ชำนาญด้วยความประมาทฉันใด การพิจารณากายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อุคคหนิมิตในที่ใดแล้ว ไม่พิจารณาในที่นั้นให้มากปล่อยทิ้งเสียด้วยความประมาทก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรอย่างเดียวกัน

การพิจารณากายนี้มีที่อ้างมาก ดั่งในการบวชทุกวันนี้ เบื้องต้นต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก็คือ กายนี้เอง ก่อนอื่นหมดเพราะเป็นของสำคัญ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทขุทฺทกนิกายว่า อาจารย์ผู้ไม่ฉลาด ไม่บอกซึ่งการพิจารณากาย อาจทำลายอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ของกุลบุตรได้ เพราะฉะนั้นในทุกวันนี้จึงต้องบอกกรรมฐาน ๕ ก่อน

อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าจะไม่กำหนดกาย ในส่วนแห่ง โกฏฐาส (คอการพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ) ใดโกฏฐาสหนึ่งมิได้มีเลย จึงตรัสแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปผู้กล่าวถึงแผ่นดินว่า 

บ้านโน้นมีดินดำดินแดงเป็นต้นนั้นว่า นั่นชื่อว่า พหิทฺธา แผ่นดินภายนอกให้พวกท่านทั้งหลายมาพิจารณา อัชฌัตติกา แผ่นดินภายในกล่าวคืออัตตภาพร่างกายนี้ จงพิจารณาไตร่ตรองให้แยบคาย กระทำให้แจ้งแทงให้ตลอด เมื่อจบการวิสัชชนาปัญหานี้ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพระอรหันตผล

เหตุนั้นการพิจารณากายจึงเป็นของสำคัญ ผู้ที่จะพ้นทุกทั้งหมดล้วนแต่ต้องพิจารณากายนี้ทั้งสิ้น จะรวบรวมกำลังใหญ่ได้ต้องรวบรวมด้วยการพิจารณากาย แม้พระพุทธองค์เจ้าจะได้ตรัสรู้ทีแรกก็ทรงพิจารณาลม ลมจะไม่ใช่กายอย่างไร? เพราะฉะนั้นมหาสติปัฏฐาน มีกายานุปัสสนาเป็นต้น จึงชื่อว่า "ชัยภูมิ" เมื่อเราได้ชัยภูมิดีแล้ว กล่าวคือปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐานจนชำนาญแล้ว ก็จงพิจารณาความเป็นจริงตามสภาพแห่งธาตุทั้งหลายด้วยอุบายแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

๙. อุบายแห่งวิปัสสนา อันเป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส

ธรรมชาติของดีทั้งหลาย ย่อมเกิดมาแต่ของไม่ดี อุปมาดั่งดอกปทุมชาติอันสวยๆ งามๆ ก็เกิดขึ้นมาจากโคลนตมอันเป็นของสกปรก ปฏิกูลน่าเกลียด แต่ว่าดอกบัวนั้น เมื่อขึ้นพ้นโคลนตมแล้วย่อมเป็นสิ่งที่สะอาด เป็นที่ทัดทรงของพระราชา อุปราช อำมาตย์ และเสนาบดี เป็นต้น และดอกบัวนั้นก็มิได้กลับคืนไปยังโคลนตมนั้นอีกเลย ข้อนี้เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า ผู้ประพฤติพากเพียรประโยคพยายาม ย่อมพิจารณาซึ่ง สิ่งสกปรกน่าเกลียดนั้นก็คือตัวเรานี้เอง 

ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครกคือ อุจจาระ ปัสสาวะ (มูตรคูถ) ทั้งปวง สิ่งที่ออกจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เรียกว่า ขี้ ทั้งหมด เช่น ขี้หัว ขเล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ร่วงหล่นลงสู่อาหาร มีแกงกับ เป็นต้น ก็รังเกียจ ต้องเททิ้ง กินไม่ได้ และร่างกายนี้ต้องชำระอยู่เสมอจึงพอเป็นของดูได้

 ถ้าหาไม่ก็จะมีกลิ่นเหม็นสาป เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่างๆ เมื่ออยู่นอกกายของเราก็เป็นของสะอาดน่าดู แต่เมื่อมาถึงกายนี้แล้วก็กลายเป็นของสกปรกไป เมื่อปล่อยไว้นานๆ เข้าไม่ซักฟอกก็จะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย เพราะเหม็นสาบ ดั่งนี้จึงได้ความว่าร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร เรือนคูถ เป็นอสุภะ ของไม่งาม ปฏิกูลน่าเกลียด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบเทียบมิได้เลย 

เพราะฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายจึงพิจารณาร่างกายอันนี้ให้ชำนิชำนาญด้วย โยนิโสมนสิการ ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว คือขณะเมื่อยังเห็นไม่ทันชัดเจนก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งกายอันเป็นที่สบายแก่จริตจนกระทั่งปรากฏเป็นอุคคหนิมิต คือ ปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วก็กำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก 

การเจริญทำให้มากนั้นพึงทราบอย่างนี้ อันชาวนาเขาทำนาเขาก็ทำที่แผ่นดิน ไถที่แผ่นดินดำลงไปในดิน ปีต่อไปเขาก็ทำที่ดินอีกเช่นเคย เข้าไม่ได้ทำในอากาศกลางหาว คงทำแต่ที่ดินอย่างเดียว ข้าวเขาก็ได้เต็มยุ้งเต็มฉางเอง เมื่อทำให้มากในที่ดินนั้นแล้ว ไม่ต้องร้องเรียกว่า 

ข้าวเอ๋ยข้าว จงมาเต็มยุ้งเน้อ ข้าวก็จะหลั่งไหลมาเอง และจะห้ามว่า เข้าเอ๋ยข้าว จงอย่ามาเต็มยุ้งเต็มฉางเราเน้อ ถ้าทำนาในที่ดินนั้นเองจนสำเร็จแล้ว ข้าวก็มาเต็มยุ้งเต็มฉางเอง ฉันใดก็ดีพระโยคาวจรเจ้าก็ฉันนั้น จงพิจารณากายในที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัยหรือที่ปรากฏมาให้เห็นครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด 

การทำให้มากนั้นมิใช่หมายแต่การเดินจงกรมเท่านั้น ให้มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอจึงจะชื่อว่า ทำให้มาก เมื่อพิจารณาในร่างกายนั้นจนชัดเจนแล้ว ให้พิจารณาแบ่งส่วนแยกส่วนออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการตลอดจนกระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และพิจารณาให้เห็นไปตามนั้นจริงๆ อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบายตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าละทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว

พระโยคาวจรเจ้าเมื่อพิจารณาในที่นี้ พึงเจริญให้มาก ทำให้มาก อย่าพิจารณาครั้งเดียวแล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมาเป็น อนุโลม ปฏิโลม คือเข้าไปสงบในจิต แล้วถอยออกมาพิจารณากาย อย่างพิจารณากายอย่างเดียว หรือสงบที่จิตแต่อย่างเดียว 

พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้ชำนาญแล้ว หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แลเป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือ จิต ย่อมจะรวมใหญ่ เมื่อรวมพึ่บลง ย่อมปรากฏว่าทุกสิ่งรวมลงเป็นอันเดียวกันคือหมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่าโลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน ไม่ว่า ป่าไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ แม้ที่สุดตัวของเราก็ต้องลบราบเป็นที่สุดอย่างเดียวกัน

พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ คือรู้ขึ้นมาพร้อมกัน ในที่นี้ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนา คือทั้งเห็นทั้งรู้ตามความเป็นจริงขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป ไม่ใช่ที่สุดอันพระโยคาวจรเจ้าจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก 

จึงจะเป็นเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญเห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมติว่าโน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยงอาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลาย เขาหากมีหากเป็นอยู่อย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อน

 เราเกิดตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณมาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ ไม่ใช่สมมติมาติดเอาเรา เพราะธรรมชาติทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้ จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมีหากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว 

โดยไม่ต้องสงสัยเลยจึงรู้ขึ้นว่า ปุพฺเพสุ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ ธรรมดาเหล่านี้ หากมีมาแต่ก่อน ถึงว่าจะไม่ได้ยินได้ฟังมาจากใครก็มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว ฉะนั้นในความข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่า เราไม่ได้ฟังมาแต่ใคร มิได้เรียนมาแต่ใครเพราะของเหล่านี้มีอยู่ มีมาแต่ก่อนพระองค์ดังนี้ ได้ความว่าธรรมดาธาตุทั้งหลายย่อมเป็นย่อมมีอยู่อย่างนั้น อาศัยอาการของจิตเข้าไปยึดถือเอาสิ่งทั้งปวงเหล่านั้นมาหลายภพหลายชาติ จึงเป็นเหตุให้อนุสัยครอบงำจิตจนหลงเชื่อไปตาม

 จึงเป็นเหตุให้ก่อภพก่อชาติด้วยอาการของจิตเข้าไปยึด ฉะนั้นพระโยคาวจรเจ้ามาพิจารณา โดยแยบคายลงไปตามสภาพว่า สพฺเพ สฺงขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง คือ อาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง คือมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาโดย อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ เป็นเครื่องแก้อาการของจิตให้เห็นแน่แท้โดย ปัจจักขสิทธิ ว่า ตัวอาการของจิตนี้เองมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงหลงตามสังขาร 

เมื่อเห็นจริงลงไปแล้วก็เป็นเครื่องแก้อาการของจิต จึงปรากฏขึ้นว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก เปรียบเหมือนพยับแดด 

ส่วนสัตว์เขาก็อยู่ประจำโลกแต่ไหนแต่ไรมา เมื่อรู้โดยเงื่อน ๒ ประการ คือรู้ว่า สัตว์ก็มีอยู่อย่างนั้น สังขารก็เป็นอาการของจิต เข้าไปสมมติเขาเท่านั้น ฐีติภูตํ จิตตั้งอยู่เดิมไม่มีอาการเป็นผู้หลุดพ้น ได้ความว่า ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จะใช่ตนอย่างไร ของเขาหากเกิดมีอย่างนั้น ท่านจึงว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน 

ให้พระโยคาวจรเจ้าพึงพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ตามนี้จนทำให้จิตรวมพึ่บลงไป ให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น โดย ปัจจักขสิทธิ พร้อมกับ ญาณสัมปยุตต์ รวมทวนกระแสแก้อนุสัยสมมติเป็นวิมุตติ หรือรวมลงฐีติจิต อันเป็นอยู่มีอยู่อย่างนั้นจนแจ้งประจักษ์ในที่นั้นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า ขีณา ชาติ ญาณํ โหติ ดังนี้ 

ในที่นี้ไม่ใช่สมมติไม่ใช่ของแต่งเอาเดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาได้ เป็นของที่เกิดเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติอันเข้มแข็งไม่ท้อถอย พิจารณาโดยแยบคายด้วยตนเอง จึงจะเป็นขึ้นมาเอง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ต่างๆ มีต้นข้าวเป็นต้น

 เมื่อบำรุงรักษาต้นมันให้ดีแล้ว ผลคือรวงข้าวไม่ใช่สิ่งอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเลย เป็นขึ้นมาเอง ถ้าแลบุคคลมาปรารถนาเอาแต่รวงข้าว แต่หาได้รักษาต้นข้าวไม่ เป็นผู้เกียจคร้าน จะปรารถนาจนวันตาย รวงข้าวก็จะไม่มีขึ้นมาให้ฉันใด วิมฺตติธรรม ก็ฉันนั้นนั่นแล มิใช่สิ่งอันบุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้ คนผู้ปรารถนาวิมุตติธรรมแต่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติมัวเกียจคร้านจนวันตายจะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย ด้วยประการฉะนี้

๑๐. จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส

ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฐํ
ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เสื่อมปภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองเป็นอาคันตุกะสัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า

 "ไม้ชะงกหกพันง่า(กิ่ง) กะปอมก่ากิ้งก่าฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ" โดยอธิบายว่า คำว่าไม่ชะงก ๖,๐๐๐ ง่านั้นเมื่อตัดศูนย์ ๓ ศูนย์ออกเสียเหลือแค่ ๖ คงได้ความว่า ทวารทั้ง ๖ เป็นที่มาแห่งกะปอมก่า คือของปลอมไม่ใช่ของจริง

 กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง ๖ นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้ ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใสยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคืออุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุมจึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบังฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่าพระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก

 ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลายเมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคายตามที่อธิบายแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ ๙ นั้นเถิด เมื่อทำให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่าย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้นหรือว่าของปลอมย่อมเข้าไปถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัวฉะนั้น

๑๑. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย

นายสารถีผู้ฝึกม้ามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามถึงวิธีทรมานเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมาณม้า เขาทูลว่าม้ามี ๔ ชนิด คือ ๑. ทรมานง่าย ๒. ทรมานอย่างกลาง ๓. ทรมานยากแท้ ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่าเราก็เหมือนกัน ๑. ผู้ทรมาณง่าย คือผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่ายให้กินอาหารเพียงพอ เพื่อบำรุงร่างกาย ๒. ผู้ทรมานอย่างกลาง 

คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ค่อยจะลง ก็ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก ๓. ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน ๔. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย คือผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้ เป็น ปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือไม่ทรงรับสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น

๑๒. มูลติกสูตร

ติกแปลว่า ๓ มูลแปลว่าเค้ามูลรากเหง้า รวมความว่าสิ่งซึ่งเป็นรากเหง้าเค้ามูลอย่างละ ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เรียก ๓ อกุศลมูล ตัณหา ก็มี ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา โอฆะและอาสวะก็มีอย่างละ ๓ คือ กามะ ภาวะ อวิชชา ถ้าบุคคลมาเป็นไปกับด้วย ๓ เช่นนี้ ติปริวตฺตํ ก็ต้องเวียนไปเป็น๓ ๓ ก็ต้องเป็นโลก ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก อยู่อย่างนั้นแล เพราะ ๓ นั้นเป็นเค้ามูลโลก ๓

เครื่องแก้ก็มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อบุคคลดำเนินตนตามศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นเครื่องแก้ น ติปริวตฺตํ ก็ไม่ต้องเวียนไปเป็น๓ ๓ ก็ไม่เป็นโลก ๓ ชื่อว่าพ้นจากโลก ๓ แล

๑๓. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้

อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต
บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด 

มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึงวิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และ สุกฺกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้

๑๔. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัติ

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา
สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พักจึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา

อุปมา ดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ ถึง ๙ ทิ้งเสีย เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้นแต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ 

มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้

ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ยเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น 

ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปนกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ทิ่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรมอันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

๑๕. สัตตาวาส ๙

เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น ๑ รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌานมี ๔ อรูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปฌานมี ๔ รวมทั้งสิ้น ๙ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้มารู้เท่าสัตตาวาส ๙ กล่าวคือ พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ในที่ ๙ แห่งนี้ และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่า ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า ๑๐ แก้ว่า ทสหงฺ เคหิ สมนฺนาคโต พระขีณาสวเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ย่อมพ้นจากสัตตาวาส ๙ 

ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ นั่นเอง ๑ ถึง ๙ เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน ๑๐ ก็คือ เลข ๑ กับ ๐ (ศูนย์) เราจะเอา ๐ (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ ๐ (ศูนย์)

 นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน ๐ (ศูนย์) เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมาก เช่น เลข ๑ เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้า

 ก็กลายเป็น ๑๐ (สิบ) จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็เป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดรอบรู้สรรพเญยฺยธรรมแล้วย่อมกลับคืนสู่สภาพ ๐ (ศูนย์) คือ ว่างโปร่งพ้นจากการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ ๙ แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ ๐ (ศูนย์) หรืออกิริยาดังกล่าวในข้อ ๑๔ นั่นเอง

๑๖. ความสำคัญของปฐมเทศนา มัชฌิมเทศนา และปัจฉิมเทศนา

พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๓ กาลมีความสำคัญยิ่ง อันพุทธบริษัทควรสนใจพิจารณาเป็นพิเศษ คือ

ก. ปฐมโพธิกาล ได้ทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา เรียกว่า ธรรมจักร เบื้องต้นทรงยกส่วนสุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพขึ้นมาแสดงว่า เทว เม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา ภิกษุทั้งหลาย ส่วนที่สุด ๒ อย่างอันบรรพชิตไม่พึงเสพ คือ กามสุขัลลิกา และอัตตกิลมถา 

อธิบายว่า กามสุขัลลิกา เป็นส่วนแห่งความรัก อัตตกิลมถา เป็นส่วนแห่งความชังทั้ง ๒ ส่วนนี้เป็นตัวสมุทัย เมื่อผู้บำเพ็ญตบะธรรมทั้งหลายโดยอยู่ซึ่งส่วนทั้งสองนี้ ชื่อว่ายังไม่เข้าทางกลาง เพราะเมื่อบำเพ็ญเพียรพยายามทำสมาธิ จิตสงบสบายดีเต็มที่ก็ดีใจ ครั้นเมื่อจิตนึกคิดฟุ้งซ่านรำคาญก็เสียใจ ความดีใจนั้น คือ กามสุขัลลิกา ความเสียใจนั้นแล คือ อัตตกิลมถา ความดีใจก็เป็นราคะ ความเสียใจก็เป็นโทสะ ความไม่รู้เท่าในราคะ โทสะ ทั้งสองนี้เป็นโมหะ 

ฉะนั้น ผู้ที่พยายามประกอบความเพียรในเบื้องแรกต้องกระทบส่วนสุดทั้งสองนั้นแลก่อน ถ้าเมื่อกระทบส่วน ๒ นั้นอยู่ ชื่อว่าผิดอยู่แต่เป็นธรรมดาแท้ทีเดียว ต้องผิดเสียก่อนจึงถูก แม้พระบรมศาสดาแต่ก่อนนั้นพระองค์ก็ผิดมาเต็มที่เหมือนกัน แม้พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ซ้ำเป็นมิจฉาทิฐิมาก่อนแล้วทั้งสิ้น 

แม้สาวกทั้งหลายเหล่าอื่นๆ ก็ล้วนแต่ผิดมาแล้วทั้งนั้น ต่อเมื่อพระองค์มาดำเนินทางกลาง ทำจิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิพฤกษ์ ได้ญาณ ๒ ในสองยามเบื้องต้นในราตรี ได้ญาณที่ ๓ กล่าวคืออาสวักขยญาณในยามใกล้รุ่ง จึงได้ถูกทางกลางอันแท้จริงทำจิตของพระองค์ให้พ้นจากความผิด 

กล่าวคือ...ส่วนสุดทั้งสองนั้น พ้นจากสมมติโคตร สมมติชาติ สมมติวาส สมมติวงศ์ และสมมติประเพณี ถึงความเป็นอริยโคตร อริยชาติ อริยวาส อริยวงศ์ และอริยประเพณี ส่วนอริยสาวกทั้งหลายนั้นเล่าก็มารู้ตามพระองค์ ทำให้ได้อาสวักขยญาณพ้นจากความผิดตามพระองค์ไป 

ส่วนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในระยะแรกๆ ก็ต้องผิดเป็นธรรมดา แต่เมื่อผิดก็ต้องรู้เท่าแล้วทำให้ถูก เมื่อยังมีดีใจเสียใจในการบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ ก็ตกอยู่ในโลกธรรม เมื่อตกอยู่ในโลกธรรม จึงเป็นผู้หวั่นไหวเพราะความดีใจเสียใจนั่นแหละ ชื่อว่าความหวั่นไหวไปมา

 อุปฺปนฺโน โข เม โลกธรรมจะเกิดที่ไหน เกิดที่เรา โลกธรรมมี ๘ มรรคเครื่องแก้ก็มี ๘ มรรค ๘ เครื่องแก้โลกธรรม ๘ ฉะนั้น พระองค์จึงทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาแก้ส่วน ๒ เมื่อแก้ส่วน ๒ ได้แล้วก็เข้าสู่อริยมรรค ตัดกระแสโลก ทำใจให้เป็นจาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (สละสลัดตัดขาดวางใจหายห่วง) รวมความว่า เมื่อส่วน ๒ ยังมีอยู่ในใจผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็ยังไม่ถูกทาง เมื่อผู้มีใจพ้นจากส่วนทั้ง ๒ แล้ว ก็ไม่หวั่นไหว หมดธุลี เกษมจากโยคะ จึงว่าเนื้อความแห่งธรรมจักรสำคัญมาก พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรนี้ยังโลกธาตุให้หวั่นไหว จะไม่หวั่นไหวอย่างไร เพราะมีใจความสำคัญอย่างนี้ โลกธาตุก็มิใช่อะไรอื่น

 คือตัวเรานี้เอง ตัวเราก็คือธาตุของโลก หวั่นไหวเพราะเห็นในของที่ไม่เคยเห็น เพราะจิตพ้นจากส่วน ๒ ธาตุของโลกจึงหวั่นไหว หวั่นไหวเพราะจะไม่มาก่อธาตุของโลกอีกแล

ข. มัชฌิมโพธิกาล ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในชุมชนพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ณ พระราชอุทยานเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ พึงเป็นผู้ทำจิตให้ยิ่ง การที่จะทำจิตให้ยิ่งได้ต้องเป็นผู้สงบระงับ อิจฺฉา โลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ เมื่อประกอบด้วยความอยากดิ้นรนโลภหลงอยู่แล้วจักเป็นผู้สงระงับได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ปฏิบัติคือปฏิบัติพระวินัยเป็นเบื้องต้น

 และเจริญกรรมฐานตั้งต้นแต่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำให้มาก เจริญให้มาก ในการพิจารณามหาสติปัฏฐาน มีกายนุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเบื้องแรก พึงพิจารณาส่วนแห่งร่างกาย โดยอาการแห่งบริกรรมสวนะคือ พิจารณาโดยอาการคาดคะเน ว่าส่วนนั้นเป็นอย่างนั้นด้วยการมีสติสัมปชัญญะไปเสียก่อน เพราะเมื่อพิจารณาเช่นนี้ใจไม่ห่างจากกาย ทำให้รวมง่าย เมื่อทำให้มาก 

ในบริกรรมสวนะแล้ว จักเกิดขึ้นซึ่งอุคคหนิมิตให้ชำนาญในที่นั้นจนเป็นปฏิภาค ชำนาญในปฏิภาคโดยยิ่งแล้วจักเป็นวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาจนเป็นวิปัสสนาอย่างอุกฤษฏ์ ทำจิตเข้าถึงฐีติภูตํ ดังกล่าวแล้วในอุบายแห่งวิปัสสนาชื่อว่าปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้ว โมกฺขํ จึงจะข้ามพ้น จึงพ้นจากโลกชื่อว่าโลกุตตรธรรม เขมํ จึงเกษมจากโยคะ (เครื่องร้อย) ฉะนั้น เนื้อความในมัชฌิมเทศนาจึงสำคัญเพราะเล็งถึงวิมุตติธรรมด้วยประการฉะนี้และฯ

ค. ปัจฉิมโพธิกาล ทรงแสดงปัจฉิมเทศนาในที่ชุมชนพระอริยสาวก ณ พระราชอุทยานสาลวันของมัลลกษัตริย์กรุงกุสินารา ในเวลาจวนจะปรินิพพานว่า หนฺทานิ อามนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ปฏิเวทยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เราบอกท่านทั้งหลายว่าจงเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาสังขารที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป 

เมื่อท่านทั้งหลายพิจารณาเช่นนั้นจักเป็นผู้แทงตลอด พระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาเพียงเท่านี้ก็ปิดพระโอษฐ์มิได้ตรัสอะไรต่อไปอีกเลย จึงเรียกว่า ปัจฉิมเทศนาอธิบายความต่อไปว่า สังขารมันเกิดขึ้นที่ไหน อะไรเป็นสังขาร สังขารมันก็เกิดขึ้นที่จิตของเราเองเป็นอาการของจิตพาให้เกิดขึ้นซึ่งสมมติทั้งหลาย สังขารนี้แล เป็นตัวการสมมติบัญญัติสิ่งทั้งหลายในโลกความจริงในโลกทั้งหลายหรือธรรมธาตุทั้งหลายเขามีเขาเป็นอยู่อย่างนั้น 

แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ฟ้า แดด เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้เลย เจ้าสังขารตัวการนี้เข้าไปปรุงแต่งว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้จนหลงกันว่าเป็นจริง ถือเอาว่าเป็นตัวเรา เป็นของๆ เราเสียสิ้น จึงมี ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นทำจิตดั้งเดิมให้หลงตามไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอเนกภพ อเนกชาติ เพราะเจ้าตัวสังขารนั้นแลเป็นตัวเหตุ จึงทรงสอนให้

พิจารณาสังขารว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา ให้เป็นปรีชาญาณชัดแจ้ง เกิดจากผลแห่งการเจริญปฏิภาคเป็นส่วนเบื้องต้น จนทำจิตให้เข้าภวังค์ 

เมื่อกระแสแห่งภวังค์หายไป มีญาณเกิดขึ้นว่า "นั้นเป็นอย่างนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์" เกิดขึ้นในจิตจริงๆ จนชำนาญเห็นจริงแจ้งประจักษ์ ก็รู้เท่าสังขารได้ สังขารก็จะมาปรุงแต่งให้จิตกำเริบอีกไม่ได้ ได้ในคาถาว่า อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต เมื่อสังขารปรุงแต่งจิตไม่ได้แล้ว ก็ไม่กำเริบรู้เท่าธรรมทั้งปวง สนฺโต ก็เป็นผู้สงบระงับถึงซึ่งวิมุตติธรรม ด้วยประการฉะนี้

ปัจฉิมเทศนานี้เป็นคำสำคัญแท้ ทำให้ผู้พิจารณารู้แจ้งถึงที่สุด พระองค์จึงได้ปิดพระโอษฐ์แต่เพียงนี้พระธรรมเทศนาใน ๓ กาลนี้ ย่อมมีความสำคัญเหนือความสำคัญในทุกๆ กาล ปฐมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม มัชฌิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม ปัจฉิมเทศนาก็เล็งถึงวิมุตติธรรม รวมทั้ง ๓ กาล ล้วนแต่เล็งถึงวิมุตติธรรมทั้งสิ้น ด้วยประการฉะนี้

๑๗. พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ

อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตวา อุปฺปสมฺปชฺช วิหรติ พระบาลีนี้แสดงว่าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใดย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ...ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน หาได้แบ่งแยกไว้ว่า ประเภทนั้นบรรลุแต่เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุติไม่ ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า เจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิก่อน ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ 

นั้นย่อมขัดแย้งต่อมรรค มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรมจำต้องบำเพ็ญมรรค ๘ บริบูรณ์ มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้ ไตรสิกขาก็มีทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา อันผู้จะได้อาสวักขยญาณจำต้องบำเพ็ญไตรสิกขาให้บริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน ฉะนั้นจึงว่า พระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติด้วยประการฉะนี้แลฯ

กุญแจภาวนา หลวงปู่ชา สุภัทโธ

กุจแจภาวนา



กุญแจภาวนา หลวงปู่ชา สุภัทโธ


๑.  ผมได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติกรรมฐานแต่ยังไม่มีท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย

เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้น จะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่านจากการหลุดพ้น ท่านจะเพียรพยายามอย่างหนักตามใจท่านก็ได้ จะเร่งความเพียรทั้งกลางคืนกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความอยากที่จะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่าน จะไม่มีทางที่จะพบความสงบได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยและความกระวนกระวายใจ 


ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัติมานานเท่าใดหรือหนักเพียงใด ปัญญา (ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียงแต่ละความอยากเสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง


๒. เรื่องการหลับนอนล่ะครับ ผมควรจะนอนมากน้อย เพียงใด

อย่าถามผมเลย ผมตอบให้ท่านไม่ได้ บางคนหลับนอนคืนละประมาณ ๔ ชั่วโมงก็พอ อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือ ท่านเฝ้าดูและรู้จักตัวของท่านเอง ถ้าท่านนอนน้อยจนเกินไป ท่านก็จะไม่สบายกาย ทำให้คุมสติไว้ได้ยาก ถ้านอนมากเกินไป จิตใจก็จะตื้อเฉื่อยชาหรือซัดส่าย จงหาสภาวะที่พอเหมาะกับตัวท่านเอง ตั้งใจเฝ้าดูกายและจิต จนท่านรู้ระยะเวลาหลับนอนที่พอเหมาะสำหรับท่าน ถ้าท่านรู้สึกตัวตื่นแล้ว และยังซุกตัวของีบต่อไปอีก นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จงมีสติรู้ตัวทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้น
๓.  เรื่องการขบฉันล่ะครับ ผมควรจะฉันอาหาร มากน้อยเพียงใด

การขบฉันก็เหมือนกับการหลับนอน ท่านต้องรู้จักตัวของท่านเอง อาหารต้องบริโภคให้เพียงพอตามความต้องการของร่างกาย จงมองอาหารเหมือนยารักษาโรค ท่านฉันมากไปจนง่วงนอนหลังฉันอาหารหรือเปล่า และท่านอ้วนขึ้นทุกวันหรือเปล่า จงหยุดแล้วสำรวจกายและจิตของท่านเอง ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร จงทดลองฉันอาหารตามปริมาณมากน้อยต่างๆ 

หาปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายของท่านใส่อาหารที่จะฉันทั้งหมดลงในบาตรตามแบบธุดงควัตร แล้วท่านจะกะปริมาณอาหารที่จะฉันได้ง่าย เฝ้าดูตัวท่านเองอย่างถี่ถ้วน ขณะที่ฉันจงรู้จักตัวเอง สาระสำคัญของการฝึกปฏิบัติของเราเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรพิเศษ ที่ต้องทำไปมากกว่านี้ จงเฝ้าดูเท่านั้น สำรวจตัวท่านเอง เฝ้าดูจิต แล้วท่านจึงจะรู้ว่า อะไรคือสภาวะที่พอเหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของท่าน

๔.  จิตของชาวเอเซียและชาวตะวันตกแตกต่างกันหรือไม่ครับ

โดยพื้นฐานแล้วไม่แตกต่างกัน ดูจากภายนอกขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาที่ใช้อาจดูต่างกัน แต่จิตของมนุษย์นั้นเป็นธรรมชาติซึ่งเหมือนกันหมด ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ความโลภและความเกลียดก็มีเหมือนกัน ทั้งในจิตของชาวตะวันออกหรือชาวตะวันตก ความทุกข์และความดับแห่งทุกข์ก็เหมือนกันในทุกๆคน

๕.  เราควรอ่านตำรับตำรามากๆ หรือศึกษาพระไตรปิฎกด้วยหรือไม่ ครับ ในการฝึกปฏิบัตินี่

พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น ไม่อาจค้นพบได้ด้วยตำราต่างๆถ้าท่านต้องการจะรู้เห็นจริงด้วยตัวของท่านเองว่า พระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ท่านไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับตำรับตำราเลย จงเฝ้าดูจิตของท่านเอง พิจารณาให้รู้เห็นว่า ความรู้สึกต่างๆ (เว ทนา) เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร ความนึกคิดเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย จงมีสติอยู่เสมอ 

เมื่อมีอะไรๆเกิดขึ้นให้ได้รู้ได้เห็น นี่คือทางที่จะบรรลุถึงสัจจธรรมของพระพุทธองค์ จงเป็นปกติธรรมดาตามธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านทำขณะอยู่ที่นี่เป็นโอกาสแห่งการฝึกปฏิบัติ เป็นธรรมะทั้งหมด เมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์อยู่ พยายามให้มีสติ ถ้าท่านกำลังเทกระโถนหรือล้างส้วมอยู่ อย่าคิดว่าท่านกำลังทำบุญทำคุณให้กับผู้หนึ่งผู้ใด มีธรรมะอยู่ในการเทกระโถนนั้น 

อย่ารู้สึกว่าท่านกำลังฝึกปฏิบัติอยู่เฉพาะเวลานั่งขัดสมาธิเท่านั้น พวกท่านบางคนบ่นว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำสมาธิภาวนา แล้วเวลาหายใจเล่ามีเพียงพอไหม? การทำสมาธิภาวนาของท่าน คือการมีสติระลึกรู้ และการรักษาจิตให้เป็นปกติตามธรรมชาติในการกระทำทุกอิริยาบถ

๖. ทำไมพวกเราจึงไม่มีการสอบอารมณ์กับอาจารย์ทุกวันเล่าครับ

ถ้าท่านมีคำถาม เชิญมาถามได้ทุกเวลา แต่ที่นี่เราไม่จำเป็นจะต้องมีการสอบอารมณ์กันทุกวัน ถ้าผมตอบปัญหาเล็กๆน้อยๆทุกปัญหาของท่าน ท่านก็จะไม่มีทางรู้เท่าทันถึงการเกิดดับของความสงสัยในใจของท่าน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องเรียนรู้ที่จะสำรวจตัวท่านเอง สอบถามตัวท่านเอง จงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาทุกๆครั้งแล้ว จงนำเอาคำสอนนี้ไปเปรียบเทียบกับการฝึกปฏิบัติของท่านเองว่าเหมือนกันหรือไม่ ต่างกันหรือไม่ ทำไมท่านจึ งมีความสงสัยอยู่ ใครคือผู้ที่สงสัยนั้น โดยการสำรวจตัวเองเท่านั้น จะทำให้ท่านเข้าใจ ได้

๗. บางครั้งผมกังวลใจอยู่กับพระวินัยของพระสงฆ์ ถ้าผม ฆ่าแมลง โดยบังเอิญแล้ว จะผิดไหมครับ

ศีลหรือพระวินัยและศีลธรรม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฝึกปฏิบัติของเรา แต่ท่านต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างงมงาย ในการฆ่าสัตว์ หรือการละเมิดข้อห้ามอื่นๆนั้น มันสำคัญที่เจตนา ท่านย่อมรู้อยู่แก่ใจของท่านเอง อย่าได้กังวลกับเรื่องพระวินัยให้มากจนเกินไป ถ้านำมาปฏิบัติอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยส่งเสริมการฝึกปฏิบัติ แต่พระภิกษุบางรูปกังวลกับกฎเกณฑ์เล็กๆน้อยๆมากเกินไปจนนอนไม่เป็นสุขพระวินัยไม่ใช่ภาระที่ต้องแบก

ในการปฏิบัติของเราที่นี่มีรากฐานคือพระวินัย พระวินัยรวมทั้งธุดงควัตรและการปฏิบัติภาวนา การมีสติและการสำรวมระวังในกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนในศีล ๒๒๗ ข้อนั้น ให้คุณประโยชน์อันใหญ่หลวง ทำให้มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ต้องพะวงว่าจะต้องทำตนอย่างไร ดังนั้นท่านก็หมดเรื่องต้องครุ่นคิด 
และมีสติดำรงอยู่แทน พระวินัยทำให้พวกเราอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืน และชุมชนก็ดำเนินไปอย่างราบรื่น ลักษณะภายนอกทุกๆคนดูเหมือนกัน และปฏิบัติอย่างเดียวกัน พระวินัยและศีลธรรม เป็นบันไดอันแข็งแกร่ง นำไปสู่สมาธิยิ่งและปัญญายิ่ง

โดยการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระวินัยของพระสงฆ์และธุดงควัตร ทำให้เรามีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆและต้องจำกัดจำนวนบริขารของเราด้วย ดังนั้นที่นี่เราจึงมีการปฏิบัติที่ครบถ้วนตามแบบของพระพุทธเจ้า คือ การงดเว้นจาก ความชั่วและทำความดี มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆตามความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ชำระจิตให้บริสุทธิ์ โดยการเฝ้าดูจิตและกายของเราในทุกๆอิริยาบถ เมื่อนั่งอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ หรือนอนอยู่ จงรู้ตัวของท่านเอง

๘. ผมควรจะทำอย่างไรครับเมื่อผมสงสัย บางวันผมวุ่นวายใจด้วยความสงสัยในเรื่องการปฏิบัติ หรือในความคืบหน้าของผม หรือ ในอาจารย์

ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น ที่สำคัญก็คือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตัวเป็นตน นั่นคืออย่าตกเป็นเหยื่อของความสงสัย ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น 

จงเฝ้าดูกระบวนการเกิดดับของความสงสัย ของความฉงนสนเท่ห์ ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะหลุดพ้นออกจากความสงสัย และจิตของท่านก็จะสงบ ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร จงปล่อยวางสิ่งต่างๆที่ท่านยังยึดมั่นอยู่ ปล่อยวางความสงสัยของท่าน และเพียงแต่เฝ้าดู นี่คือที่สิ้นสุดของความสงสัย

๙.  ท่านอาจารย์มีความเห็นเกี่ยวแก่วิธีปฏิบัติ (วิธีภาวนา) วิธีอื่นๆอย่างไรครับ ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะมีอาจารย์มากมาย และมีแนวทางการทำสมาธิวิปัสสนาหลายแบบ จนทำให้สับสน

มันก็เหมือนกับการจะเข้าไปในเมือง บางคนอาจจะเข้าเมืองทางทิศเหนือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯทางถนนหลายสาย โดยมากแล้วแนวทางภาวนาก็แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางสายหนึ่งสายใด เดินช้าหรือเดินเร็ว ถ้าท่านมีสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือแนวทางภาวนาที่ดีและถูกต้องจะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้ว ก็ต้องปล่อยวางแนวทางภาวนาทุกรูปแบบด้วย ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ในตัวอาจารย์แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง

ท่านอาจจะอยากเดินทางไปเพื่อศึกษาอาจารย์ท่านอื่นอีก และลองปฏิบัติตามแนวทางอื่นบ้างก็ได้ พวกท่านบางคนก็ทำเช่นนั้น นี่เป็นความต้องการตามธรรมชาติ ท่านจะรู้ว่าแม้ได้ถามคำถามนับพันคำถามก็แล้ว และมีความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติอื่นๆก็แล้ว ก็ไม่อาจจะนำท่านเข้าถึงสัจจธรรมได้ 

ในที่สุดท่านก็ จะรู้สึกเบื่อหน่าย ท่านจะรู้ว่าเพียงแต่หยุด และสำรวจตรวจสอบดูจิตของท่านเองเท่านั้น ท่านก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาออกไปนอกตัวเอง ผลที่สุดท่านต้องหันกลับมาเผชิญหน้ากับสภาวะที่แท้จริงของตัวท่านเอง ตรงนี้แหละที่ท่านจะเข้าใจธรรมะได้

๑๐.  มีหลายครั้งหลายหนที่ดูเหมือนว่าพระหลายรูปที่นี่ไม่ฝึกปฏิบัติ ดูท่านไม่ใส่ใจทำ หรือขาดสติ เรื่องนี้กวนใจผม

มันไม่ถูกต้องที่จะคอยจับตาดูผู้อื่น นี่ไม่ช่วยการฝึกปฏิบัติของท่านเลย ถ้าท่านรำคาญใจก็จงเฝ้าดูความรำคาญในใจของท่าน ถ้าศีลของผู้อื่นบกพร่อง หรือเขาเหล่านั้นไม่ใช่พระที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องของท่านที่จะไปตัดสิน ท่านจะไม่เกิดปัญญาจากการจับตาดูผู้อื่น พระวินัยเป็นเครื่องช่วยในการทำสมาธิภาวนาของท่าน ไม่ใช่อาวุธสำหรับใช้ติเตียนหรือจับผิดผู้อื่น ไม่มีใครสามารถฝึกปฏิบัติให้ท่านได้ หรือท่านก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผู้อื่นได้ จงมีสติใส่ใจในการฝึกปฏิบัติของตัวท่านเอง และนี่คือแนวทางของการปฏิบัติ

๑๑. ผมระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะสำรวมอินทรีย์ผมทอดสายตา ลงต่ำเสมอ และกำหนดสติอยู่กับการกระทำ ทุกอย่าง แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นขณะที่กำลังฉันอาหารอยู่ ผมใช้เวลานาน และพยายามรู้สัมผัสทุกอย่าง เป็นต้นว่า เคี้ยวรู้รส กลืน ฯลฯ ผมกำหนดรู้ ด้วยความตั้งใจทุกขั้นตอน และระมัดระวัง ผมปฏิบัติถูกต้อง หรือไม่ครับ

การสำรวมอินทรีย์นั้น เป็นการปฏิบัติถูกต้องแล้ว เราจะต้องมีสติในการฝึกเช่นนั้นตลอดทั้งวัน แต่อย่าควบคุมให้มากเกินไป เดิน ฉัน และปฏิบัติตนให้เป็นธรรมชาติ ให้มีสติระลึกรู้ตามธรรมชาติ ถึงสิ่งที่กำลังเป็นไปในตัวท่าน อย่าบีบบังคับการทำสมาธิภาวนาของท่านและอย่าบีบบังคับตนเองไปจนดูน่าขัน ซึ่งก็เป็นตัณหาอีกอย่างหนึ่ง จงอดทน ความอดทนและความทนได้เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าท่านปฏิบัติตนเป็นปกติตามธรรมชาติ และมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ ปัญญาที่แท้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติด้วย

๑๒. จำเป็นไหมครับที่จะต้องนั่งภาวนาให้นานๆ

ไม่จำเป็นต้องนั่งภาวนานานนับเป็นหลายๆชั่วโมง บางคนคิดว่ายิ่งนั่งภาวนานานเท่าใด ก็จะยิ่งเกิดปัญญามากเท่านั้น ผมเคยเห็นไก่กกอยู่ในรังของมันทั้งวัน นับเป็นวันๆ ปัญญาที่แท้เกิดจากการที่เรามีสติในทุกๆอิริยาบถ การฝึกปฏิบัติของท่านต้องเริ่มขึ้นทันทีที่ท่านตื่นนอนตอนเช้า และต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องไปจนกระทั่งนอนหลับไป อย่าไปห่วงว่าท่านต้องนั่งภาวนาให้นานๆ สิ่งสำคัญก็คือท่านเพียงแต่เฝ้าดู ไม่ว่าท่านจะเดินอยู่ หรือนั่งอยู่ หรือกำลังเข้าห้องน้ำอยู่

แต่ละคนต่างก็มีทางชีวิตของตนเอง บางคนต้องตาย เมื่อมีอายุ ๕๐ ปี บางคนเมื่ออายุ ๖๕ ปี และบางคนเมื่ออายุ ๙๐ ปีฉันใดก็ฉันนั้น ปฏิปทาของท่านทั้งหลายก็ไม่เหมือนกัน อย่าคิดมากหรือกังวลใจในเรื่องนี้เลย จงพยายามมีสติ และปล่อยทุกสิ่งให้เป็นไปตามปกติของมัน

แล้วจิตของท่านก็จะสงบมากขึ้นๆในสิ่งแวดล้อมทั้งปวง มันจะสงบนิ่งเหมือนหนองน้ำใสในป่า ที่ซึ่งบรรดาสัตว์ป่าที่สวยงามและหายากจะมาดื่มน้ำในสระนั้น ท่านจะเข้าใจถึงสภาวธรรมของสิ่งทั้งปวง (สังขาร) ในโลกอย่างแจ่มชัด ท่านจะได้เห็นความมหัศจรรย์และแปลกประหลาดทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป แต่ท่านก็จะยังคงสงบอยู่เช่นเดิม ปัญหาทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น แต่ท่านจะรู้ทันมันได้ทันที นี่แหละคือศานติสุขของพระพุทธเจ้า

๑๓. ผมยังคงมีความนึกคิดต่างๆ มากมาย จิตของผมฟุ้งซ่านมาก ทั้งๆที่ผมพยายามจะมีสติอยู่

อย่าวิตกในเรื่องนี้เลย พยายามรักษาจิตของท่านให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อเกิดรู้สึกอะไรขึ้นมาภายในจิตก็ตาม จงเฝ้าดูมันและปล่อยวาง อย่าแม้แต่หวังที่จะไม่ให้มีความนึกคิดเกิดขึ้นเลย แล้วจิตก็จะเข้าถึงสภาวะปกติตามธรรมชาติของมัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความดีและความชั่ว ร้อนและหนาว เร็วหรือช้า ไม่มีเรา 

ไม่มีเขา ไม่มีตัวตน เลย อะไรๆก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านเดินบิณฑบาต ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่เดินและเห็นตามที่เป็นอยู่ อย่ายึดมั่นอยู่กับการแยกตัวไปอยู่แต่ลำพัง หรือกับการเก็บตัวไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด จงรู้จักตัวเองด้วยการปฏิบัติตนเป็นปกติตามธรรมชาติ และเฝ้าดู เมื่อเกิดสงสัยจงเฝ้าดูมันเกิดขึ้นและดับไป มันก็ง่ายๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดทั้งสิ้น

เหมือนกับว่าท่านกำลังเดินไปตามถนน บางขณะท่านจะพบสิ่งกีดขวางทางอยู่ เมื่อท่านเกิด กิเลสเครื่องเศร้าหมอง จงรู้ทันมันและเอาชนะมันโดยปล่อยให้มันผ่านไปเสีย อย่าไปคำนึงถึงสิ่งกีดขวางที่ท่านได้ผ่านมาแล้ว อย่าวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่ได้พบ จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าสนใจกับระยะทางของถนนหรือกับจุดหมายปลายทางทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไป 

ไม่ว่าท่านผ่านอะไรไป อย่าไปยึดมั่นไว้ ในที่สุดจิตจะบรรลุถึงความสมดุลตามธรรมชาติของจิต และเมื่อนั้นการปฏิบัติก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นและดับไปในตัวของมันเอง

๑๔.  ท่านอาจารย์เคยพิจารณา "สูตรของเว่ยหลาง" ของพระสังฆปริณายก(นิกายเซ็น) องค์ที่หกบ้างไหมครับ (ท่านเว่ยหลาง หรือท่านฮุยเหนิง)

ท่านฮุยเหนิงมีปัญญาเฉียบแหลมมาก คำสอนของท่านลึกซึ้งยิ่งนัก ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่ผู้เริ่มต้นปฏิบัติจะเข้าใจได้ แต่ถ้าท่านปฏิบัติตามศีลและด้วยความอดทน และถ้าท่านฝึกที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านก็จะเข้าใจได้ในที่สุด ครั้งหนึ่ง ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกุฏิหลังคามุงแฝก ฤดูฝนนั้นฝนตกชุก และวันหนึ่งพายุก็พัดเอาหลังคาโหว่ไปครึ่งหนึ่ง เขาไม่ขวนขวายที่จะมุงมันใหม่
 
จึงปล่อยให้ฝนรั่วอยู่อย่างนั้น หลายวันผ่านไป และผมได้ถามถึงกุฏิของเขา เขาตอบว่ากำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ใช้หัวสมอง มันก็เกือบจะเหมือนกับความวางเฉยของควาย ถ้าท่านมีความเป็นอยู่ดี และเป็นอยู่ง่ายๆ ถ้าท่านอดทนและไม่เห็นแก่ตัว ท่านจึงจะเข้าใจซึ้งถึงปัญญาของท่านฮุยเหนิงได้

๑๕. ท่านอาจารย์เคยสอนว่า สมถะหรือสมาธิ และวิปัสสนาหรือปัญญา นี้เป็นสิ่งเดียวกัน ขอท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมได้ไหมครับ

นี่ก็เป็นเรื่องง่ายๆนี่เอง สมาธิ (สมถะ) และปัญญา (วิปัสสนา) นี้ต้องควบคู่กันไป เบื้องแรกจิตจะตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ได้โดยอาศัยอารมณ์ภาวนา จิตจะสงบตั้งมั่นอยู่ได้เฉพาะขณะที่ท่านนั่งหลับตาเท่านั้น นี่คือสมถะ และอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐานช่วยให้เกิดปัญญา หรือวิปัสสนาได้ในที่สุด แล้วจิตก็จะสงบ ไม่ว่าท่านจะนั่งหลับตาอยู่ หรือเดินอยู่ในเมืองที่วุ่นวาย 

เปรียบเหมือนกับว่าครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นเด็ก บัดนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่ แล้วเด็กกับผู้ใหญ่นี้เป็นบุคคลคนเดียวกันหรือเปล่า ท่านอาจจะพูดได้ว่าเป็นคนคนเดียวกัน หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่งท่านก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นคนละคนกัน ในทำนองเดียวกัน สมถะกับวิปัสสนาก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นคนละเรื่องกัน หรือเปรียบเหมือนอาหารกับอุจจาระ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน และถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนละสิ่งกัน

อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่ผมพูดมานี้ จงฝึกปฏิบัติต่อไปและเห็นจริงด้วยตัวของท่านเอง ไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่านี้ ถ้าท่านพิจารณาว่าสมาธิและปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างไรแล้ว ท่านจะรู้ความจริงได้ด้วยตัวของท่านเอง

ทุกวันนี้ผู้คนไปยึดมั่นอยู่กับชื่อเรียก ผู้ที่เรียกการปฏิบัติของพวกเขาว่า "วิปัสสนา" สมถะก็ถูกเหยียดหยาม หรือผู้ที่เรียกการปฏิบัติของพวกเขาว่า "สมถะ" ก็จะพูดว่า จำเป็นต้องฝึกสมถะก่อนวิปัสสนา เหล่านี้เป็นเรื่องไร้สาระ อย่าไปวุ่นวายคิดถึงมันเลย เพียงแต่ฝึกปฏิบัติไป แล้วท่านจะรู้ได้ด้วยตัวท่านเอง

๑๖. ในการปฏิบัติของเรา จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงฌานหรือไม่ ครับ

ไม่ ฌานไม่ใช่เรื่องจำเป็น ท่านต้องฝึกจิตให้มีความสงบ และมีอารมณ์เป็นหนึ่ง (เอกัคคตา) แล้วอาศัยอันนี้สำรวจตนเอง ไม่ต้องทำอะไรพิเศษไปกว่านี้ ถ้าท่านได้ฌานในขณะฝึกปฏิบัตินี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่อย่าไป หลงติดอยู่ในฌาน หลายคนชะงักติดอยู่ในฌานมันทำให้เพลิดเพลินได้มากเมื่อไปเล่นกับมัน ท่านต้องรู้ขอบเขตที่สมควร ถ้าท่านฉลาด ท่านก็จะเห็นประโยชน์และขอบเขตของฌานเช่นเดียวกับที่ท่านรู้ขั้นความสามารถของเด็ก และขั้นความสามารถของผู้ใหญ่

๑๗. ทำไมเราต้องปฏิบัติตามธุดงควัตร เช่นฉันอาหารเฉพาะแต่ในบาตรเท่านั้นเล่าครับ

ธุดงควัตรทั้งหลาย ล้วนเป็นเครื่องช่วยเราให้ทำลายกิเลสเครื่องเศร้าหมอง การปฏิบัติตามข้อที่ว่าให้ฉันแต่อาหารในบาตร ทำให้เรามีสติมากขึ้น ระลึกว่าอาหารนั้นเป็นเสมือนยารักษาโรค ถ้าเราไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองแล้ว มันก็ไม่สำคัญว่าเราจะฉันอย่างไร แต่เราอาศัยธุดงควัตรทำให้การปฏิบัติของเราเป็นไปอย่างง่ายๆ พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติธุดงควัตรไว้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระภิกษุทุกองค์ แต่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติธุดงควัตรสำหรับพระภิกษุผู้ประสงค์จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ธุดงควัตรเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาในศีล

เพราะฉะนั้นช่วยเพิ่มความมั่นคงและความเข้มแข็งของจิตใจเรา ข้อวัตรทั้งหลายเหล่านี้มีไว้ให้ท่านปฏิบัติ อย่าคอยจับตาดูว่าผู้อื่นปฏิบัติอย่างไร จงเฝ้าดูจิตของตัวท่านเอง และดูว่าอะไรจะเป็นประโยชน์สำหรับท่าน กฎข้อที่ว่าเราต้องไปอยู่กุฏิ จะกุฏิใดก็ตามที่กำหนดไว้ให้เรา เป็นกฎที่เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน มันช่วยกันไม่ให้พระติดที่อยู่ถ้าผู้ใดจากไปแล้วและกลับมาใหม่ ก็จะต้องไปอยู่กุฏิใหม่ การปฏิบัติของพวกเราเป็นเช่นนี้ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด

๑๘.  ถ้าหากว่า การใส่อาหารทุกอย่างรวมลงในบาตรเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว ทำไมท่านอาจารย์จึงไม่ปฏิบัติด้วยเช่นเดียวกัน ครับ ท่านคิดว่า ไม่สำคัญหรือครับ ที่อาจารย์จะต้องทำเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์

ถูกแล้ว อาจารย์ควรทำเป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ของตน ผมไม่ถือว่าท่านติผม ท่านซักถามได้ทุกอย่างที่อยากทราบ แต่ว่ามันก็สำคัญที่ท่านต้องไม่ยึดอยู่กับอาจารย์ ถ้าดูจากภายนอก ผมปฏิบัติดีพร้อมหมดก็คงจะแย่มาก พวกท่านทุกคนก็จะพากันยึดติดในตัวผมยิ่งขึ้น แม้พระพุทธเจ้าเอง บางครั้งก็ตรัสให้บรรดาสาวกปฏิบัติอย่างหนึ่ง และพระองค์เองกลับปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ความไม่แน่ใจในอาจารย์ของท่านก็ช่วยท่านได้ ท่านควรเฝ้าดูปฏิกิริยาของตัวเอง ท่านไม่คิดบ้างหรือว่า อาจจะเป็นไปได้ว่าที่ผมแบ่งอาหารจากบาตรใส่จานไว้เพื่อเลี้ยงดูชาวบ้านที่มาช่วยทำงานวัด

ปัญญา คือสิ่งที่ท่านต้องเฝ้าดูและทำให้เจริญขึ้น รับเอาแต่สิ่งที่ดีจากอาจารย์ จงรู้เท่าทันการฝึกปฏิบัติของท่านเอง ถ้าผมพักผ่อนในขณะที่พวกท่านทุกองค์ต้องนั่งทำความเพียรแล้ว ท่านจะโกรธหรือไม่ถ้าผมเรียกสีน้ำเงินว่าแดง หรือเรียกผู้ชายว่าผู้หญิงก็อย่าเรียกตามผมอย่างหลับหูหลับตา

อาจารย์องค์หนึ่งของผมฉันอาหารเร็วมาก และฉันเสียงดัง แต่ท่านสอนให้พวกเราฉันช้าๆ และฉันอย่างมีสติ ผมเคยเฝ้าดูท่านและรู้สึกขัดเคืองใจมาก ผมเป็นทุกข์ แต่ท่านไม่ทุกข์เลย ผมเพ่งเล็งแต่ลักษณะภายนอก ต่อมาผมจึงได้รู้ บางคน ขับรถเร็วมาก แต่ระมัดระวัง บางคนขับช้าๆ แต่มีอุบัติเหตุบ่อยๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นในกฎระเบียบและรูปแบบภายนอก ถ้าท่านใช้เวลาอย่างมากเพียงสิบเปอร์เซ็นต์มองดูผู้อื่น แต่เฝ้าดูตัวเองเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว

แรกๆผมคอยเฝ้าสังเกตอาจารย์ของผม คือ อาจารย์ทองรัตและเกิดสงสัยในตัวท่านมาก บางคนถึงกับคิดว่าท่านบ้า ท่านมัก จะทำอะไรแปลกๆ หรือเกรี้ยวกราดเอากับบรรดาลูกศิษย์ของท่าน อาการภายนอกของท่านโกรธ แต่ภายในใจท่านไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน ท่านน่าเลื่อมใสมาก ท่านเป็นอยู่อย่างรู้แจ้งและมีสติ จนถึงวาระที่ท่านมรณภาพ

การมองออกไปนอกตัว เป็นการเปรียบเทียบแบ่งเขาแบ่งเราท่านจะไม่พบความสุขโดยวิธีนี้ และท่านจะไม่พบความสงบเลย ถ้าท่านมัวเสียเวลาแสวงหาคนที่ดีพร้อม หรือครูที่ดีพร้อม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราดูที่ธรรมะ ที่สัจจธรรม ไม่ใช่คอยจับตาดูผู้อื่น

๑๙. เราจะเอาชนะกามราคะที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกปฏิบัติได้อย่างไร ครับ บางครั้งผมรู้สึกเป็นทาสของความต้องการ ทางเพศ

กามราคะจะบรรเทาลงได้ด้วยการเพ่งพิจารณาถึงความน่าเกลียด โสโครก
 (อสุภะ) การยึดติดอยู่กับรูปร่างกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองในทางตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อย หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้และพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามราคะเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้ท่านเอาชนะกามราคะได้

๒๐.  เมื่อผมโกรธ ผมควรจะทำอย่างไรครับ

ท่านต้องแผ่เมตตา ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนา ให้แก้ด้วยเมตตาจิต ถ้ามีใครทำไม่ดีหรือโกรธ อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้

บางครั้งท่านอาจจะเห็นพระภิกษุรูปอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านอาจจะรำคาญใจ ทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี้ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า "เขาไม่เคร่งเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐานที่เอาจริงเอาจังเช่นฉัน เขาไม่ใช่พระที่ดี" นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่งของตัวท่านเอง อย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขา แบ่งเรา จงละทิฏฐิ ของท่านเสีย และเฝ้าดูตัวท่านเอง 

นี่แหละคือธรรมะของเรา ท่านไม่ สามารถบังคับให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านต้องการ หรือเป็นเช่นท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่านเป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตน แล้วท่านก็จะเข้าใจ

๒๑.  ผมง่วงเหงาหาวนอนอยู่มากครับ ทำให้ภาวนาลำบาก
มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้าตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำถ้าท่านยังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะไปชนอะไรเข้าจะทำให้ท่านหายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่อีก ก็จงยืนนิ่งๆทำใจให้สดชื่น

และสมมติว่าขณะนั้นสว่าง เป็นกลางวัน หรือนั่งริมหน้าผาสูง หรือบ่อลึก ท่านจะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างไรๆก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งท่านหลับไป เมื่อท่านรู้สึกตัวตื่นขึ้น จงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาหรือหลับต่ออีก เริ่มต้นมีสติระลึกรู้ทันทีที่ท่านตื่น

ถ้าท่านง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารให้น้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีกห้าคำท่านจะอิ่ม จงหยุด แล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูใหม่อีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว ท่านต้องกะฉันอาหารให้พอดี เมื่อท่านฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึกกระปรี้ประเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ท่านต้องปรับตัวของท่านเอง

๒๒. ทำไมเราจึงต้องกราบกันบ่อยๆครับ ที่นี่

การกราบนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นรูปแบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ การกราบนี้ต้องทำให้ถูกต้อง ก้มลงจนหน้าผากจรดพื้นวางศอกให้ชิดกับเข่า ฝ่ามือทั้งสองราบอยู่ที่พื้น ห่างกันประมาณสามนิ้ว กราบลงช้าๆ มีสติรู้อาการของกาย การกราบช่วยแก้ความถือตัวของเราได้เป็นอย่างดี เราควรกราบบ่อยๆ เมื่อท่านกราบสามหนท่านควรตั้งจิตระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ 

นั่นคือคุณลักษณะแห่งจิตอันสะอาด สว่าง และสงบ ดังนั้นเราจึงอาศัยรูปแบบนี้ฝึกฝนตน กาย และจิตจะประสานกลมกลืนกัน อย่าได้หลงผิดไปจับตาดูว่าผู้อื่นกราบอย่างไร ถ้าสามเณรน้อยดูไม่ใส่ใจ และพระผู้เฒ่าดูขาดสติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะตัดสินใจ บางคนอาจจะสอนยาก บางคนเรียนได้เร็ว บางคนเรียนได้ช้า การพิจารณาตัดสินผู้อื่นมีแต่จะเพิ่มความหยิ่งทะนงตน จงเฝ้าดูตัวเอง กราบบ่อยๆ ขจัดความหยิ่งทะนงตนออกไป

ผู้ที่เข้าถึงธรรมะได้อย่างแท้จริงแล้ว ท่านจะอยู่เหนือรูปแบบ ทุกๆอย่างที่ท่านทำก็มีแต่การอ่อนน้อมถ่อมตน เดินก็ถ่อม ฉันก็ถ่อมขับถ่ายก็ถ่อม ทั้งนี้ก็เพราะว่าท่านพ้นจากความเห็นแก่ตัวเสียแล้ว

๒๓. อุปสรรคใหญ่ของลูกศิษย์ใหม่ของท่านอาจารย์คืออะไรครับ

ทิฏฐิ ความเห็น และความนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวง เกี่ยวกับตัวเขาเอง เกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนา เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายๆท่านที่มาที่นี่ มีตำแหน่งการงานสูงในสังคม บางคนเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่ง หรือได้ปริญญาต่างๆ ครูและข้าราชการ สมองของเขาเต็มไปด้วยความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ เขาฉลาดเกินกว่าที่จะฟังผู้อื่น เปรียบเหมือนน้ำในถ้วย ถ้าถ้วยมีน้ำสกปรกอยู่เต็ม

 ถ้วยน้ำก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เมื่อได้เทน้ำเก่านั้นทิ้งไปแล้วเท่านั้น ถ้วยนั้นก็จะใช้ประโยชน์ได้ ท่านต้องทำจิตให้ว่างจากทิฏฐิ แล้วท่านจึงจะได้เรียนรู้การปฏิบัติของเรานั้นอยู่เหนือความฉลาดหรือความโง่ ถ้าท่านคิดว่าฉันเก่ง ฉันรวย ฉันเป็นคนใหญ่คนโต ฉันเข้าใจพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งทั้งหมดเช่นนี้แล้ว ท่านจะไม่เห็นความจริงในเรื่องของอนัตตาหรือความไม่ใช่ตัวตน ท่านจะมีแต่ตัวตน ตัวฉัน ของฉัน แต่พระพุทธศาสนาคือการละตัวตน เป็นความว่าง เป็นความไม่มีทุกข์ เป็นนิพพาน

๒๔. กิเลสเครื่องเศร้าหมอง เช่นความโลภ หรือความโกรธเป็นเพียงมายา หรือว่าเป็นของจริงครับ

เป็นทั้งสองอย่าง กิเลสที่เราเรียกว่าราคะหรือความโลภ ความโกรธและความหลง นั้นเป็นแต่เพียงชื่อ เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เราเรียกชามใหญ่ ชามเล็ก สวย หรืออะไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สภาพที่เป็นจริง แต่เป็นความคิดปรุงแต่งที่เราคิดปรุงขึ้นจากตัณหาถ้าเราต้องการชามใหญ่ เราก็ว่าอันนี้เล็กไป ตัณหาท ำให้เราแบ่งแยกความจริงก็คือมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ลองมามองแง่นี้บ้าง

ท่านเป็นผู้ชายหรือเปล่า ท่านตอบว่าเป็น นี่เป็นเพียงรูปปรากฏของสิ่งต่างๆ แท้จริงแล้ว ท่านเป็นส่วนประกอบของธาตุและขันธ์ ถ้าจิตเป็นอิสระแล้ว จิตจะไม่แบ่งแยก ไม่มีใหญ่ ไม่มีเล็ก ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีอะไรจะเป็นอนัตตา หรือความไม่ใช่ตัวตน แท้จริงแล้วในบั้นปลายก็ไม่มีทั้งอัตตาและอนัตตา (เป็นแต่เพียงชื่อเรียก)

๒๕.  ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรรมด้วยครับ

กรรม คือ การกระทำ กรรม คือการยึดมั่นถือมั่น กาย วาจาและใจ ล้วนสร้างกรรมเมื่อมีการยึดมั่นถือมั่น เราทำกันจนเกิดความเคยชินเป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์ได้ในกาลข้างหน้า นี่เป็นผลของการยึดมั่นถือมั่น และของกิเลส เครื่องเศร้าหมองของเราที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ความยึดมั่นทั้งหลายจะทำให้เราสร้างกรรม สมมติว่าท่านเคยเป็นขโมย ก่อนที่จะบวชเป็นพระ ท่านขโมยเขา ทำให้เขาไม่เป็นสุข ทำให้พ่อแม่หมดสุข ตอนนี้ท่านเป็นพระ แต่เวลาที่ท่านนึกถึงเรื่องที่ท่านทำให้ผู้อื่นหมดสุขแล้ว ท่านก็ไม่สบายใจ และเป็นทุกข์ แม้จนทุกวันนี้

จงจำไว้ว่า ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดผลในอนาคตได้ ถ้าท่านเคยสร้างกรรมดีไว้ในอดีต และวันนี้ก็ยังจำได้ ท่านก็เป็นสุข ความสุขใจเป็นผลจากกรรมในอดีต สิ่งทั้งปวงมีเหตุเป็นปัจจัย ทั้งในระยะยาว และถ้าใคร่ครวญ ดูแล้วทั้งในทุกๆขณะด้วย แต่ท่านอย่าไปนึกถึงอดีต หรือปัจจุบัน หรืออนาคตเพียงแต่เฝ้าดูกายและจิต 

ท่านจะต้องพิจารณาจนเห็นจริงในเรื่องกรรม ด้วยตัวของท่านเอง จงเฝ้าดูจิตปฏิบัติแล้วท่านจะรู้อย่างแจ่มแจ้ง อย่าลืมว่ากรรมของใครก็เป็นของคนนั้น อย่ายึดมั่น และอย่าจับตาดูผู้อื่น ถ้าผมดื่มยาพิษ ผมก็ได้ทุกข์ ไม่ใช่เรื่องที่ท่านจะมาเป็นทุกข์ด้วย จงรับเอาแต่สิ่ง ดีที่อาจารย์สอน แล้วท่านจะเข้าถึงความสงบ จิตของท่านจะเป็นเช่นเดียวกันกับจิตของอาจารย์ ถ้าท่านพิจารณาดูท่านก็จะรู้ได้ แม้ว่าขณะนี้ท่านจะยังไม่เข้าใจ เมื่อท่านปฏิบัติต่อไปมันก็จะแจ่มแจ้งขึ้น ท่านจะรู้ได้ด้วยตนเอง ได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรม

เมื่อเรายังเล็ก พ่อแม่วางกฎระเบียบกับเรา และหัวเสียกับเราแท้จริงแล้วท่านต้องการจะช่วยเรา กว่าเราจะรู้ก็ต่อมาอีกนาน พ่อแม่และครูบาอาจารย์ ดุว่าเรา และเราก็ไม่พอใจ ต่อมาเราจึงเข้าใจว่าทำไมเราจึงถูกดุ ปฏิบัติไปนานๆแล้วท่านก็จะเห็นเอง ส่วนผู้ที่คิดว่าตนฉลาดล้ำก็จะจากไปในเวลาอันสั้น เขาไม่มีวันจะได้เรียนรู้ ท่านต้องขจัดความคิดว่าตัวฉลาดสามารถออกไปเสีย ถ้าท่านคิดว่าท่านดีกว่าผู้อื่น ท่านก็จะมีแต่ทุกข์ เป็นเรื่องน่าสงสาร อย่าขุ่นเคืองใจ แต่จงเฝ้าดูตนเอง

๒๖.  บางครั้งดูเหมือนว่าตั้งแต่ผมบวชเป็นพระมานี้ผมประสบความ ยากลำบากและความทุกข์มากขึ้น

ผมรู้ว่าพวกท่านบางคนมีภูมิหลังที่สะดวกสบายทางวัตถุมาก่อนและมีเสรีภาพ เมื่อเปรียบกันแล้ว ขณะนี้ท่านต้องเป็นผู้อยู่อย่างสำรวมตนเองและมักน้อยยิ่งนัก ซ้ำในการฝึกปฏิบัตินี้ ผมยังให้ท่านนั่งนานและคอยหลายชั่วโมง อาหารและดินฟ้าอากาศก็ต่างกันไปกับบ้านเมืองของท่าน แต่ทุกคนก็ต้องผ่านความทุกข์ยากกันบ้าง นี่คือความทุกข์ที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ อย่างนี้แหละที่จะทำให้ท่านได้เรียนรู้ เมื่อท่านนึกโกรธ หรือนึกสงสารตัวเอง นั่นแหละเป็นโอกาสเหมาะที่จะเข้าใจเรื่องของจิต พระพุทธเจ้าตรัสว่ากิเลสทั้งหลายเป็นครูของเรา

ศิษย์ทุกคนก็เหมือนลูกของผม ผมมีแต่เมตตากรุณาและความปรารถนาดีต่อทุกคน ถ้าผมทำให้ท่านทุกข์ยากก็เพื่อประโยชน์ของท่านเอง ผมรู้ว่าพวกท่านบางคนมีการศึกษาดี และมีความรู้สูง ผู้ที่มีการศึกษาน้อย และมีความรู้ทางโลกน้อย จะฝึกปฏิบัติได้ง่าย มันก็เหมือนกับว่า ฝรั่งเช่นท่านนี้มีบ้านหลังใหญ่ที่จะต้องเช็ดถู เมื่อเช็ดถูแล้วท่านก็จะมีที่อยู่กว้างขวาง มีครัว มีห้องสมุด มีห้องนั่งเล่น 

ท่านต้องอดทน ความอดทนและความทนได้สำคัญมากในการฝึกปฏิบัติของเรา เมื่อผมยังเป็นพระหนุ่มๆอยู่ ผมไม่ได้รับความยากลำบากมากเท่าท่าน ผมพูดภาษาพื้นเมือง และฉันอาหารพื้นเมืองของผมเอง แม้กระนั้นบางวันผมก็ทอดอาลัย ผมอยากสึก และถึงกับอยากฆ่าตัวตายความทุกข์เช่นนี้เกิดจากความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เมื่อท่านเข้าถึงสัจจธรรมแล้ว ท่านจะละทิ้งทัศนะและทิฏฐิเสียได้ ทุกอย่างจะเข้าสู่ความสงบ

๒๗. ผมเจริญสมาธิภาวนาจนจิตสงบลึก ผมควรทำอย่างไร ต่อไปครับ

นี่ก็ดีแล้ว ทำจิตให้สงบและเป็นสมาธิ และใช้สมาธินี้พิจารณาจิตและกาย ถ้าจิตเกิดไม่สงบก็จงเฝ้าดูด้วย แล้วท่านจะรู้ถึงความสงบที่แท้จริง เพราะอะไร เพราะท่านจะได้เห็นความไม่เที่ยง แม้ความสงบเองก็ดูให้เห็นไม่เที่ยง ถ้าท่านยึดติดอยู่กับภาวะจิตที่สงบ แล้วท่านจะเป็นทุกข์เมื่อจิตไม่สงบ ฉะนั้นจงปล่อยวางหมดทุกสิ่งแม้แต่ความสงบ

๒๘.  ผมได้ยินท่านอาจารย์พูดว่าท่านเป็นห่วงลูกศิษย์ที่พากเพียรมาก ใช่ไหมครับ

ถูกแล้ว ผมเป็นห่วง ผมเป็นห่วงว่าเขาเอาจริงเอาจังจนเกินไปเขาพยายามเกินไป แต่ขาดปัญญา เขาเคี่ยวเข็ญตนเองไปสู่ความทุกข์ยากโดยไม่จำเป็น บางคนมุ่งมั่นที่จะรู้แจ้ง เขาขบฟันแน่นและใจดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เป็นความพยายามมากเกินไป คนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน พวกเขาไม่รู้ถึงสภาพเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง (สังขาร) สังขารทั้งปวง จิตและร่างกายล้วนเป็นของไม่เที่ยง จงเฝ้าดูและอย่ายึดมั่นถือมั่น

บางคนคิดว่าเขารู้ เขาวิพากษ์วิจารณ์ จับตามองและลงความเห็นเอาเอง อย่างนี้ก็ตามใจเขา ทิฏฐิของใครก็ปล่อยให้เป็นของคนนั้น การแบ่งเขาแบ่งเรานี้อันตราย เปรียบเหมือนทางโค้งอันตรายของถนน ถ้าเราคิดว่าคนอื่นด้อยกว่า หรือดีกว่า หรือเสมอกันกับเรา เราก็ตกทางโค้ง ถ้าเราแบ่งเขา แบ่งเรา เราก็จะเป็นทุกข์

๒๙.  ผมได้เจริญสมาธิภาวนามาหลายปีแล้ว ใจผมเปิดกว้างและสงบระงับเกือบจะในทุกสภาพการณ์เวลานี้ผมอยากจะย้อนหลัง และฝึกทำสมาธิชั้นสูง หรือฝึกฌานครับ

จะทำอย่างนั้นก็ได้ เป็นการฝึกจิตที่มีประโยชน์ ถ้าท่านมีปัญญาท่านจะไม่ยึดติดอยู่ในสมาธิจิต ซึ่งก็เหมือนกันกับอยากนั่งภาวนานานๆ อยากจะลองฝึกอย่างนั้นดูก็ได้ แต่จริงๆ แล้วการฝึกนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับท่วงท่าอิริยาบถต่างๆ แต่นี่เป็นการมองตรงเข้าไปในจิตนี่คือปัญญา เมื่อท่านพิจารณาและเข้าใจชัดในเรื่องของจิตแล้ว ท่านก็จะเกิดปัญญา รู้ถึงขอบเขตของสมาธิ หรือขอบเขตของตำรับตำราเมื่อท่านได้ฝึกปฏิบัติ และเข้าใจจริงเรื่องการไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ท่านจะกลับไปอ่านตำรับตำราก็ได้ เปรียบได้เหมือนขนมหวาน จะช่วยท่านในการสอนผู้อื่น หรือท่านจะหวนกลับไปฝึกฌานก็ได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้แล้วที่จะไม่ยึดถือในสิ่งใด

๓๐. ขอความกรุณาท่านอาจารย์ทบทวนใจความสำคัญของ การสนทนา  นี้ด้วยครับ

ท่านต้องสำรวจ ตัวเอง รู้ว่าท่านเป็นใคร รู้ทันกายและจิตใจของท่าน โดยการเฝ้าดูในขณะนั่งภาวนา หลับนอน และขบฉัน จงรู้ความพอดีพอเหมาะสำหรับตัวท่าน ใช้ปัญญาในการฝึกปฏิบัตินี้ ต้องละความอยากที่จะบรรลุผลใดๆ  จงมีสติรู้ว่าอะไรเป็นอยู่ การเจริญสมาธิภาวนาของเราก็คือการมองตรงเข้าไปในจิต ท่านจะมองเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และความดับไปแห่งทุกข์ แต่ท่านต้องมีความอดทน อดทนอย่างยิ่ง และต้องทนได้ ท่านจะค่อยๆได้เรียนรู้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกอยู่กับอาจารย์อย่างน้อยห้าปี ท่านจะต้องเห็นคุณค่าของการให้ทานของความอดทนและของการเสียสละ

อย่าปฏิบัติเคร่งเครียดจนเกินไป อย่ายึดติดอยู่กับรูปแบบภายนอก การจับตาดูผู้อื่น เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง จงเป็นปกติตามธรรมชาติ และเฝ้าดูสิ่งนี้อยู่ พระวินัยของพระสงฆ์ และกฎระเบียบของวัดสำคัญมาก ทำให้เกิดบรรยากาศที่เรียบง่าย และประสานกลมกลืน จงใช้ให้เป็น แต่จำไว้ว่า ความสำคัญของพระวินัยของพระสงฆ์ คือการเฝ้าดูเจตนาและสำรวจจิต 

ท่านต้องใช้ปัญญาอย่าแบ่งเขาแบ่งเรา ท่านจะขัดเคืองใจหรือไม่ ถ้าต้นไม้เล็กๆในป่าไม้สูงใหญ่และตรง อย่างต้นอื่นๆ นี่เป็นเรื่องโง่เขลา อย่าไปตัดสินคนอื่นคนเรามีหลายแบบต่างๆกัน อย่าคอยแต่มั่นหมายที่จะเปลี่ยนแปลงใครๆไปหมดทุกคน

ดังนั้นจงอดทนและฝึกให้มีคุณธรรม มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆและเป็นปกติตามธรรมชาติ เฝ้าดูจิต นี่แหละคือการปฏิบัติของเรา ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัว และความสงบสันติ